iPrice ประเทศไทย - รู้จักกันหรือยังกับไมโครโฟนประเภทต่าง ๆ
ไมโครโฟน อุปกรณ์ เครื่องเสียง ที่ช่วยแปลงสัญญาณเสียงให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า ซึ่งถูกนำมาใช้ทั้งในการอัดเสียง และการประชุมหรือพูดคุยผ่านเครือข่ายสัญญาณบนเครื่องคอมพิวเตอร์ หากอยากได้แบบที่คุณภาพดี มีประสิทธิภาพเสียงดีเยี่ยมแล้วละก็ จะต้องเลือกไมโครโฟนที่สามารถแปลงสัญญาณเสียงได้ดีทุกย่านความถี่เสียง ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีอันล้ำหน้าเพื่อให้ได้สัญญาณเสียงที่ดีเหมือนกับเสียงต้นกำเนิด และในเมื่อเสียงต้นกำเนิดนั้นไม่ได้มีลักษณะที่เหมือนกันไปเสียหมด ทำให้ต้องมีการใช้เทคโนโลยีในการแปลงสัญญาณเสียงที่ต่างกันไป จนเกิดเป็นไมโครโฟนหลายประเภทนั่นเอง โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น
- ไมโครโฟนไดนามิก (Dynamic Microphone) ประกอบไปด้วยแม่เหล็กถาวร (Magnet), ไดอะแฟรม (Diaphragm), ขดลวด (Coil) สัญญาณที่ได้จากไมโครโฟนชนิดนี้เป็นขนาดความแรงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้ต้องอาศัยเครื่องขยายเสียงในการขยายเสียงให้ดังขึ้น เรียกว่า พรีไมโครโฟน (Pre Microphone) โดยไมโครโฟนไดนามิกนั้นจะมีอิมพิแดนซ์ 600 โอห์ม ซึ่งมีความไวในทิศทางด้านหน้าและในรัศมีสั้น ๆ ประมาณ 4 ซม. เท่านั้น เหมาะกับการขับร้องที่สุด
- ไมโครโฟนคอนเดนเซอร์ (Condenser Microphone) ประกอบด้วยแบตเตอรี่ (Battery), ไดอะแฟรม (Diaphragm), Back Plate, วงจรขยายสัญญาณ (Amplifier) ไมโครโฟนประเภทนี้จะต้องมีไฟฟ้า DC หรือกระแสไฟฟ้าตรงเลี้ยงจึงจะทำงานได้ มีแรงดันตั้งแต่ 5 ถึง 48 โวลต์ ไมโครโฟนชนิดนี้จะมีความไวเสียงมากเป็นพิเศษ และมีอิมพิแดนซ์ต่ำมาก สามารถตอบสนองต่อความถี่ปานกลางขึ้นไปได้ดี และสามารถรับทิศทางเสียงได้รอบทิศทาง
- ไมโครโฟนคริสตัล (Crystal Microphone) ประกอบด้วยไดอะแฟรม (Diaphragm), แร่คริสตัลเป็นตัวกำเนิดไฟฟ้า , Back Plate, สายนำกระแสไฟฟ้าสัญญาณเสียง ไมโครโฟนชนิดนี้จะมีแรงดันสูงกว่าไมโครโฟนชนิดอื่น ๆ ทำให้มีค่าอิมพิแดนซ์สูงถึง 10 กิโลโอห์ม มักใช้กับเครื่องขยายเสียงรุ่นหลอด สามารถตอบสนองต่อความถี่เสียงกลางได้ดี แต่ไม่ได้รับความนิยมในการใช้งานมากนักในปัจจุบัน
- ไมโครโฟนคาร์บอน (Carbon Microphone) เป็นไมโครโฟนยุคแรก ๆ ในวงการเครื่องเสียง ทำงานโดยอาศัยหลักการต้านทานของคาร์บอนที่เปลี่ยนค่าได้ตามความหนาแน่น ถ้าความหนาแน่นมากก็จะมีความต้านทานน้อยทำให้กระแสไฟไหลมาก แต่ถ้าความหนาแน่นน้อยจะมีความต้านทานมากทำให้กระแสไฟไหลได้น้อย เสียงที่ได้จะให้คุณภาพที่ดีมากในช่วงย่านความถี่ต่ำ แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมใช้ในปัจจุบันแล้วเช่นกัน
การใช้งานและดูแลรักษาไมโครโฟนให้ใช้งานได้ยาวนาน
- หลีกเลี่ยงการเคาะหรือเป่าไมโครโฟนโดยเด็ดขาด
- ไม่ควรให้ไมโครโฟนล้มหรือตกพื้น
- ควรพูดไมโครโฟนให้ห่างจากตัวไมโครโฟนประมาณ 1 – 4 นิ้วสำหรับไมโครโฟนทั่วไป และพูดห่างจากไมโครโฟนประมาณ 6 – 12 นิ้วหากเป็นไมโครโฟนรับเสียงไว ไม่ควรพูดใกล้หรือห่างไมโครโฟนมากเกินไป
- ไม่ควรใช้ไมโครโฟนใกล้กับเสียงรบกวนทั้งหลาย เช่น เสียงพัดลม เสียงเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
- ติดตั้งไมโครโฟนให้ห่างจากลำโพง ไม่ควรให้อยู่ใกล้กัน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้หันหน้าลำโพงให้ตั้งฉากกับไมโครโฟนแทน
- หลีกเลี่ยงไม่ให้ไมโครโฟนเปียกน้ำหรือโดนความชื้น
- เมื่อใช้งานไมโครโฟนเสร็จแล้ว ควรเก็บใส่กล่องให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันฝุ่นละอองและการกระทบกระเทือนที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว